Menu

นิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
เส้นเวลาของฟิล์มกระจกมรดกความทรงจำแห่งโลก

ก่อนที่ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้ในฐานะมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติจะได้รับการประกาศ ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยองค์การยูเนสโก ฟิล์มกระจกชุดนี้ได้เดินทางผ่านกาลเวลานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการเดินทางผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน ก่อนที่จะได้มาจัดแสดงเพื่อให้ปรากฎต่อสายตาของประชาชนชาวไทยในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑

การเดินทางของฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่และถ่ายทอดวิธีการถ่ายภาพโดยคณะเผยแพร่ศาสนาของพระสังฆราช โดยพระสังฆราช ฌ็อง บาติสต์ ปาเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) และบาทหลวง ลาร์นอดี (L' Abbé Larnaudie) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และพระปรีชา กลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในยุคแรกนิยมในหมู่ชนชั้นสูง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิยมในการถ่ายภาพทำให้เกิดการแพร่หลายในหมู่เจ้านาย ขุนนาง และผู้นิยมการถ่ายภาพมากขึ้น ช่วงพุทธศักราช ๒๔๗๒ ภายหลังจากการผลิตฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกก็ได้รับความนิยมลดลงและเลิกใช้ในการบันทึกภาพทั่วไป หลงเหลือแต่เพียงผู้นิยมเพียงกลุ่มเล็ก ๆ





ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ทรงริเริ่มจัดตั้งแผนกจดหมายเหตุ รวมถึงหอรูปขึ้น และได้ทรงขอพระราชทานฟิล์มกระจกส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงของพระองค์ที่ทรงถ่ายไว้ และทรงรวบรวมฟิล์มกระจกบางส่วนจากร้านถ่ายรูป “ฉายานรสิงห์” ซึ่งเป็นห้างถ่ายรูปของราชสำนักในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มารวบรวมไว้ในหอรูป

ในเวลาต่อมา เมื่อมีการแบ่งส่วนราชการใหม่ ฟิล์มกระจกในหอพระสมุดวชิรญาณถูกส่งมอบให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ดูแลตามลำดับ ฟิล์มกระจกชุดนี้จึงถูกเรียกตามแหล่งที่มาเดิม คือ หอพระสมุดวชิรญาณ ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณถูกจัดเก็บในกล่อง ไม้สักที่มีร่องสำหรับป้องกันการกระแทกของกระจก และมีกระดาษพิมพ์คำอธิบายภาพด้วยหมึกสีน้ำเงิน อันเป็นภูมิปัญญาการจัดเก็บฟิล์มกระจกให้คงสภาพเดิม ป้องกันความเสียหายได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย ฟิล์มกระจกหลากหลายขนาด ตั้งแต่ ๔ นิ้ว ถึง ๑๒ นิ้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๕,๔๒๗ แผ่น แบ่งเป็น ภาพบุคคล ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินี พระบรมราชเทวี พระอัครราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ภิกษุ และชาวต่างประเทศ ภาพสถานที่ เช่น พระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังเจ้านาย สถานที่ราชการ ร้านค้า สถานีรถไฟ ไปรษณีย์ โรงพยาบาล ถนน สะพาน คลอง วัด โบราณสถาน เป็นต้น ภาพเหตุการณ์สำคัญ ภาพพระราชพิธีและพิธีสำคัญ และภาพเบ็ดเตล็ด เช่น พระพุทธรูป นาฏศิลป์ การละคร เครื่องประกอบพิธีสำหรับงานต่าง ๆ เป็นต้น

พุทธศักราช ๒๕๔๖
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้เริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับฟิล์มกระจก โดยสแกนฟิล์มกระจกต้นฉบับให้ได้ภาพดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ฟิล์มกระจกต้นฉบับ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการเข้าถึงภาพถ่ายฟิล์มกระจกที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น

วันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
ได้มีการพิจารณาเสนอฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับซึ่งเก็บรักษาอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย

วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙
ในการประชุมกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย ครั้งที่ ๒/๒๕๕๙ คณะกรรมการฯ มีมติให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรอกแบบข้อความเพื่อนำเสนอขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยเป็นการให้ข้อมูลรายละเอียดของฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ  

วันที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจาก ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก นับเป็นเอกสารรายการที่ ๕ ที่ได้รับการ ขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกมาแล้ว ๔ รายการ ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๖ เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฎิรูปการบริหาร การปกครอง ประเทศสยาม ขึ้นทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๒ จารึกวัดโพธิ์ ประกาศขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๑ และขึ้นทะเบียนในระดับโลกในพุทธศักราช ๒๕๕๔ และบันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ในรอบ ๑๐๐ ปี ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๖

พุทธศักราช ๒๕๖๑
กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มูลนิธิ สิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของฟิล์มกระจก ชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ในฐานะที่เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย อันสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ บุคคล สถานที่ และเหตุการณ์สำคัญในอดีต อันเป็นการบันทึกความทรงจำจากอดีตตกทอดสู่คนรุ่นปัจจุบัน ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับจัดทำนิทรรศการ และจัดพิมพ์หนังสือ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” โดยร่วมกับสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ คัดเลือกภาพจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ นำเสนอภาพจากฟิล์มกระจกซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
จะป็นวันเริ่มต้นของการเฉลิมฉลองในโอกาสที่ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยองค์การยูเนสโก ผ่านนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก Celebrating the National Glass Plate Negative Registered as UNESCO Memory of the World” ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมระหว่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม - ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๙.๐๐ – ๑๙.๐๐ นาฬิกา ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ซึ่งเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์ โดยนิทรรศการประกอบด้วยภาพจากฟิล์มกระจก แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๘ หัวเรื่อง ดังนี้

๑. มองเมืองไทยผ่านฟิล์มกระจกมรดกความทรงจำ (Thailand, Through Glass Plate Negatives, Memory of the World Heritage Register)
นำเสนอการถ่ายภาพตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ซึ่งการถ่ายภาพสมัยนั้นนับว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความสนพระราชหฤทัยต่อการถ่ายภาพ ส่งผลให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในสนใจในด้านการถ่ายภาพ ดังจะเห็นได้จากภาพ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกล้องเตรียมการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง ภาพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงเล่นกล้องและกำลังถ่ายภาพ

๒. สัญลักษณ์ยืนยงดำรงไทย (The National Icons, Enduring Symbols of Thailand)
นำเสนอภาพที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของชาติไทย ได้แก่ ช้างไทยและศาลาไทย โดยนำเสนอนำเสนอภาพช้างไทยในบริบทต่าง ๆ กัน เช่น พิธีคล้องช้าง ขบวนช้างพระที่นั่งเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเชียงใหม่ กระบวนช้างในพระราชพิธีโล้ชิงช้า และการใช้ช้างลากซุง เป็นต้น นำเสนอภาพศาลาไทย อาทิ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ ณ พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ภายในถ้ำ พระยานคร และศาลาไทยที่เมืองฮัมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี

๓. เลิศล้ำอำไพพระราชพิธี (Royal Ceremonies of Grace and Splendor)
นำเสนอภาพที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีโสกัณต์ พระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี นอกจากนี้ยังมีภาพการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลปักษ์ใต้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน เป็นต้น

๔. พัฒนวิถีสู่ความศิวิไลซ์ (The Path to Modernization)
นำเสนอภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกนำเข้ามาใช้ในบ้านเมืองทั้งด้านการคมนาคม เช่น รถไฟ รถราง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ถนนหนทาง สะพาน เรือเดินทะเล รวมถึงการสื่อสาร เช่น ไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งความเจริญก้าวหน้าต่าง ๆ เหล่านี้ได้พัฒนาให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นตราบถึงปัจจุบัน

๕. ศิลปวัฒนธรรมไทยงดงามประเพณี (The Classical Beauty in Thai Arts and Traditional Culture )
นำเสนอภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย การเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่าง ๆ การประกอบอาชีพ เช่น การค้าขายของชำ การขายสินค้าจากต่างประเทศ เครื่องอุปโภคบริโภค ผลไม้ สมุนไพรจีน และการจับสัตว์น้ำ การแต่งกายของบุรุษและสตรีไทย ทรงผม การกรองมาลัย การจัดดอกไม้ การแข่งกีฬาฟุตบอล การแสดงนาฏศิลป์ เป็นต้น ภาพต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามและเก่าแก่ของประเทศไทยที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน สมควรที่คนไทยจะช่วยกันดำรงรักษาไว้ให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป  

๖. สถลวิถีอาคารตระการตา (Magnificent Perspectives of New Roads and Architecture)
นำเสนอภาพเกี่ยวแหล่งโบราณสถาน วัด อาคารสถานที่ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยนั้น เช่น วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร พระนครคีรี ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย และสถานที่อื่น ๆ ได้แก่ บริษัท อีสต์ เอเชียติก หอพระสมุดส่วนพระองค์ สถานทูตอังกฤษ เป็นต้น ปัจจุบันสถานที่บางแห่งยังปรากฏอยู่ ภาพถ่ายเหล่านี้จึงเป็นประจักษ์พยานถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

๗. ลือชาบุคคลในประวัติศาสตร์ (Prominent Personalities in Thai History)
นำเสนอภาพบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อสังคมสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระบรมวงศานุวงส์ ขุนนาง ข้าราชการ และพระสงฆ์ ภาพที่นำเสนอ อาทิ ภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) เป็นต้น

๘. พระบรมนาถเจริญทางพระราชไมตรี (Their Majesties the Kings and International Relations)
นำเสนอภาพการเสด็จประพาสต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย คราวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑ ในพุทธศักราช ๒๔๔๐ และครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๔๕๐ ภาพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสแหลมมลายู ประเทศสิงคโปร์ และภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสอินโดจีนในพุทธศักราช ๒๔๗๓ เป็นต้น ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี

กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงขอเชิญประชาชนชาวไทย ร่วมเดินทางย้อนเวลาตามเส้นทางเดินของฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวิชรญาณไปพร้อมกันระหว่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม - ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๙.๐๐ – ๑๙.๐๐ นาฬิกา ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ซึ่งเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์

นอกจากการแสดงภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสวนา การอวดภาพจากนักสะสมและบุคคลที่มีชื่อเสียง การจำหน่ายของที่ระลึก และพบกับกิจกรรมพิเศษในวันอาทิตย์ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน ได้แก่ การสาธิตการทำฟิล์มกระจกและการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจก เพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักกระบวนการและที่มาของฟิล์มกระจก และถ่ายภาพย้อนยุคกับ “ฉายานิติกร” ที่เคยฝากชื่อไว้ในงานอุ่นไอรักที่ผ่านมาทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน


โดยสามารถดูรายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่ www.thaiglassnegative.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร ๐๒ ๒๘๑ ๑๕๙๙ ต่อ ๒๒๒ ในวันและเวลาราชการ



หัวข้อน่าสนใจ


ผู้สนับสนุน



© 2018 เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก